3 สิ่งที่ต้องเข้าใจ ในการเลือกใช้ PACKAGING ให้ได้ใจผู้บริโภคในยุค NEW NORMAL

3 สิ่งที่ต้องเข้าใจ ในการเลือกใช้ PACKAGING ให้ได้ใจผู้บริโภคในยุค NEW NORMAL

ไม่ใช่แค่หุ้มห่อ! แต่ “แพคเกจจิ้ง” ที่ดี อาจช่วยต่อลมหายใจธุรกิจร้านอาหาร ตลอดจนพาแบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้

NIA ได้ชวนคุณตั้ม ปฐมพงศ์ ดีปัญญา ผู้ก่อตั้ง “DezpaX” แพลตฟอร์มด้านบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มครบวงจรมาร่วมแบ่งปันไอเดียแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะกลุ่ม SME ว่าในยุคโควิดแบบนี้ ผู้ประกอบการควรเลือกแพคเกจจิ้งจากปัจจัยอะไรบ้าง ให้ร้านเองก็ได้ประโยชน์และผู้บริโภคได้รับความคุ้มค่าและความประทับใจ

3 สิ่งที่ต้องเข้าใจ

1. FUNCTION การใช้งานยืนหนึ่ง: เลือกให้เหมาะสมกับชนิดอาหาร และความต้องการของลูกค้า

ฟังก์ชันการใช้งานคือส่วนพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

การเลือกซื้อแพคเกจจิ้งต้องเลือกให้เหมาะสมกับอาหารที่เลือกใส่และใช้ตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น เมนูอาหารชุด ก็ควรใช้กล่องที่มีหลายช่อง แพคได้แข็งแรงพร้อมทาน หรือเมนูข้าวญี่ปุ่นที่แฉะง่าย ก็มีกล่องแบบแยกชั้น นำเข้าไมโครเวฟได้ เพื่อความสะดวกและประสบการณ์ที่ดีต่อผู้บริโภค


2. EMOTION อารมณ์ต้องได้: สวยงาม ดึงดูด สร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ

แพคเกจจิ้งที่สวยงามคือสะพานเชื่อมความรู้สึกให้คนรักร้านคุณมากขึ้น

ในยุคโซเชียลที่ทุกคนถ่ายภาพอาหาร อัปสตอรี่กันทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ ถ้าร้านไหนออกแบบแพคเกจจิ้งดีก็ช่วยสร้างแรงดึงดูดใจให้คนซื้อมากขึ้น และในทางเดียวกันถ้าคุณมีเรื่องราวที่อยากเล่าบนเมนูนั้นๆ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ก็สามารถสื่อสารได้ผ่านแพคเกจจิ้ง เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและเพิ่มกำไรอีกทางหนึ่ง “ความรู้สึกร่วม” จึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้บนแพคเกจจิ้ง

แล้วจะออกแบบอย่างไรให้ตรงใจผู้บริโภค เหมาะกับเทรนด์ในช่วงนี้ คุณตั้มได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมจากข้อมูลของแพคเกจจิ้งที่ถูกสั่งซื้อมากที่สุดในแพลตฟอร์มไว้สองส่วนด้วยกัน ได้แก่ สีที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ “สีน้ำตาล” ให้ความรู้สึกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เห็นแล้วผ่อนคลาย ใกล้ชิดธรรมชาติ รักษาความสะอาดง่าย และสไตล์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ สไตล์ “มินิมอล” เป็นสไตล์ที่คนชื่นชอบและช่วยส่งเสริมให้โลโก้และเรื่องเล่าของร้านโดดเด่นขึ้นมา 

แต่ถ้าไม่มีความรู้ด้านการออกแบบเลย DezpaX ก็มีบริการช่วยออกแบบแพคเกจจิ้ง โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือร้านใหญ่ก็สามารถเข้ามาปรึกษาได้ 


3. COST ต้นทุนเหมาะสม: ต้นทุนของแพคเกจจิ้งไม่ควรเกิน 10% ของต้นทุน Food Cost

“เงิน” คือเส้นเลือดใหญ่ของการทำธุรกิจ

ปัจจัยด้านราคาต้องบาลานซ์ให้ดี ต้นทุนของแพคเกจจิ้งที่เหมาะสมคือ “ไม่ควรเกิน 5 - 10% ของราคาอาหาร” เพราะถ้าแพงเกินไปก็ทำให้ได้กำไรลดลง เป็นการสร้างต้นทุนในร้านให้สูงขึ้น หรือหากราคาถูกเกินไป ก็อาจได้แพคเกจจิ้งที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ตรงกับความคาดหวังของผู้บริโภค ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกคนจึงควรคำนวณต้นทุนแพคเกจจิ้งให้เหมาะสม ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อแพคเกจจิ้งในแต่ละครั้ง 


ที่มา: nia.or.th/DezpaX

Let's get cracking